วัดถ้ำผาจม
|
ตั้งอยู่ที่มีอาณาเขต ติดต่อกับประเทศพม่า โดยมีแม่น้ำสาย เป็นเส้นแบ่งเขตแดนทั้งสองประเทศ
นักท่องเที่ยวที่เดินทางไปที่แม่สาย ส่วนใหญ่เมืองมาถึงตลอดแม่สาย ก็จะเลยข้ามฝั่งไปประเทศพม่า
ที่เรียกกันว่าฝั่งท่าขี้เหล็ก ไปเที่ยวซื้อของพื้นเมืองของที่ระลึกต่าง ๆ
อันได้แก่ หินหยก หยกของประเทศพม่า เป็นหยกที่ดีที่สุดเพราะมีความเป็นมันวาว อยู่ในตัวของมันพวกเครื่องประดับต่าง
ๆ เช่น พลอยทับทิม ตัวแหวน สร้อยข้อมือ ซึ่งค่าแรงงานทางฝั่งพม่า ไทยใหญ่ถูกกว่าทางกรุงเทพฯ
และยังมีสินค้าของประเทศจีน ที่ผ่านเข้ามาจากคุนหมิง มาทางเชียงตุงแล้วเข้ามาวางขายที่ตลาดท่าขี้เหล็กนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่
เมื่อมาแล้ว ก็จะถ่ายรูปตรงป้ายที่เขียนว่า “เหนือสุดยอดสยาม”
เพราะบริเวณเขต ต.เวียงพางคำ อ.แม่สาย นั้นเป็นพื้นที่ส่วนที่สูงที่สุดของประเทศไทย
ฉะนั้นวัดถ้ำผาจม จึงเป็นวัดที่ตั้งอยู่เหนือสุดของประเทศไทย
ทางเข้าวัดถ้ำผาจม
เมื่อมาถึงตรงบริเวณจะข้ามสะพานไปพม่านั้น ทางด้านซ้ายมือจะมีถนนลาดต่ำ มีป้าย วัดถ้ำผาจมปักให้เห็นชัดอยู่ให้ขับลงไปตามถนนวิ่งไปเพียง ๒ นาที ก็จะถึงวัดถ้ำผาจม ถ้าจะนั่งสามล้อก็ประมาณ ๑๐ บาท ต่อ ๑ คน ถ้าไป ๒ คน ก็เสีย ๒๐ บาทนะ รถมอเตอร์ไซค์รับจ้างก็เช่นกัน เก็บคนละ ๑๐ บาท ถ้าจะเดินเข้าไปก็ใช้เวลาประมาณ ๒๐ นาที
สถานที่ของวัดถ้ำผาจม
ตั้งอยู่ในบริเวณหุบเขาซึ่งเป็นเทือกเขายาวไปถึงพระธาตุดอยตุงเรียกกันว่า เทือกเขานางนอน คือถ้ามองไกล ๆ ก่อนที่จะถึงตัวเมืองแม่สายอยู่ระหว่างทางประมาณ ๑๗ กิโลเมตร แล้วสังเกตุดูทางด้านซ้ายมือ จะเห็นภูเขาเป็นทิวยาวเป็นรูปผู้หญิงนอนอยู่ ชาวบ้านจึงเรียกว่า ดอยนางนอน แต่เมื่อยืนอยู่บนเขาของวัดแล้วมองลงมาข้างล่าง จะเห็นเป็นรูปโค้ง โอบบริเวณวัดและบ้านเรือนแถวนั้นเป็นรูปมังกร จากคำกล่าวของหมอซินแสชาวจีนที่ชำนาญทางด้านฮวงจุ้ยเมื่อมาเห็นแล้วชอบใจและ กล่าวว่า เป็นภูมิประเทศที่ดีมาก ถูกต้องตามตำรา บริเวณนี้จะต้องมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์อย่างแน่นอน อินเดีย ได้บอกว่า สถานที่ตั้งของวัดถ้ำผาจมคล้ายกับกรุงราชคฤห์ เมื่อมองลงมาจากภูเขาคิชกูฎ
วัดถ้าผาจม ตั้งอยู่บนเทือกเขามังกรตามตำราของซินแสจากเมืองจีนที่ได้เข้ามาเที่ยวชมวัด
รอบบริเวณอาณาเขตของถ้ำผาจม
สภาพทั่วไปของบริเวณถ้ำ เป็นวัดที่มีพระภิกษุสามเณรจำพรรษาอยู่เป็นจำนวนมาก รวมทั้งแม่ชีอีกหลายคน มีศาลาอเนกประสงค์หลังใหญ่สามารถบรรจุคนได้จำนวนมาก เป็นวัดที่มีการปฏิบัติวิปัสนากรรมฐานที่มีชื่อเสียงของจังหวัดเชียงราย ทางราชการเคยส่งข้าราชการไปร่วมหลายรุ่น รถยนต์สามารถเดินทางขึ้นไปข้างบนนั้นได้ รถทัวร์หรือรถเมล์มีที่จอดอยู่ข้างล่าง มีทั้งวิหารและกุฏิพระ ตัวดอยลูกนี้เป็นดอยหินปูนประกอบกับดินลูกรัง มีต้นไม้ใหญ่น้อยขึ้นอยู่มากมาย บางต้นโตมาก ให้ความร่มรื่นแก่บริเวณนี้เป็นอย่างดี บริเวณข้างล่างถ้ำเป็นบ้านของพวกที่อพยพมาจากพม่า มีทั้งไทยใหญ่ ลีซอ แม้ว จีนฮ่อ อยู่กันสับสนปนเปไปหมด ตัวถ้ำอยู่ด้านทิศเหนือของตัววัด เดินไปอีกประมาณ 10 วา ถ้ำจะมีลักษณะเอียงลงไปทางทิศตะวันออก ปากถ้ำกว้างประมาณ 2 เมตร สูงประมาณ 2-3 เมตร พื้นถ้ำเทด้วยคอนกรีตจนมองไม่เห็นดินเดิม ปากถ้ำมีรูปฤาษีก่อด้วยอิฐ มีกระถางธูปเทียนบูชา แทบจะไม่มีคำว่าธูปดับ เหตุเพราะมีคนมาบูชาทุกวัน เมื่อเข้าถ้ำไปประมาณ 4 วา ก็มีพระพุทธรูปก่อด้วยอิฐ หน้าตักกว้าง 1 ศอกเศษ ภายในถ้ำไม่มีโพรงอากาศ จึงมีความมืดพอสมควรทั้ง ๆ ที่ถ้ำนี้ไม่ลึก แต่เนื่องจากสุดถ้ำมีเจดีย์องค์เล็ก สูงประมาณ 5-6 ศอก มีการจุดธูปเทียนบูชา อากาศไม่มีวันถ่ายเทจึงอึดอัดมาก ความยาวตลอดถ้ำประมาณ 12 วา ไม่มีหินงอกหินย้อย มีแต่น้ำหยดลงมาจากเพดานถ้ำเพียง 2-3 แห่งเท่านั้น มีการเดินสายไฟฟ้าเข้าไปจนสุดถ้ำเพื่อให้แสงสว่างแก่ผู้เดินทางเข้าาไปไหว้ พระพุทธรูปที่อยู่ภายใน
ถ้ำแก้วกับตำนานล้านนา
แม้ว่าจะเป็นถ้ำเล็กก็ตาม แต่ปรากฏว่ามีการอ้งถึงในตำนานโยนก ตำนานพระธาตุดอยตุงอยู่เสมอ ความว่า "เมื่อพระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์ชีพอยู่นั้นได้เคยเสด็จมาที่นี่เพื่อโปรด สัตว์ พระพุทธองค์ได้มีมาแล้ว 4 องค์ องค์ที่ 5 คือพระศรีอริยะเมตไตย ก็จะเสด็จมาที่นี่เพื่อโปรดสัตว์เช่นกัน พระฤาษีมาโลภิกขุ ที่เคยอุปัฏฐากพระวรชินธาตุเจ้าดอยตุงก็เคยเสด็จมาจำวัดอยู่ในถ้ำนี้เช่นกัน บริเวณหัวดอยที่ติดกับลำน้ำสาย มีฝายหินทิ้งลูกหนึ่ง เป็นฝายเพื่อที่จะเอาน้ำเข้ามาสู่ผืนนาที่อยู่ฝั่งไทย ฝายนี้มีมานานประมาณเป็น 1,000 ปีมาแล้ว เพราะว่าถ้าขาดฝายลูกนี้ผืนนาที่อยู่ฝั่งไทยจะไม่มีน้ำหล่อเลี้ยง ในตำนานโยนกกล่าวว่า มีมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าพรหมมหาราชโน่นทีเดียว วัดถ้ำผาจมหรือถ้ำแก้ว นับวันยิ่งมีความสำคัญ เพราะเป็นวัดที่มีชื่อเสียงในด้านการปฏิบัติธรรม เป็นวัดที่มีนักทัศนาจรมาเยี่ยมชมมากมาย |
ดินแดนเหนือสุดในสยาม ชายแดนเศรษฐกิจ ศักดิ์สิทธิ์พระธาตุดอยเวา ของลำข้าวซอยน้อย ของอร่อยๆข้าวแรมฟืน ยามค่ำคืนหน้าด่านพรมแดน นี่แหละคือ แม่สายบ้านเรา แม่สาย แม่สายบ้านเรา
ประวัติวัดถ้ำผาจม
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น